ระยะหุ้มของคอนกรีต (Concrete Covering) เป็นระยะหุ้มของคอนกรีตกับเหล็กเสริมมีระยะหุ้มที่เพียงพอ เพื่อให้คอนกรีตมีการรับกำลังอัดตามที่วิศวกรโครงสร้างได้ออกแบบเอาไว้ และไม่ให้เหล็กเสริมได้สัมผัสกับเนื้อผิวอากาศหรือน้ำที่ขังอยู่รอบโครงสร้างนั้นโดยตรง ซึ่งจะมีผลทำให้เหล็กเกิดสนิมจนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้นลง
ระยะหุ้มคอนกรีตเหล็กเสริม ข้อกำหนดของทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) สำหรับงานเสาเข็ม ฐานราก คาน เสา มีดังนี้
- ฐานรากและองค์อาคารส่วนสำคัญที่สัมผัสกับดินตลอดเวลา ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 7.5 ซ.ม.
- คอนกรีตที่สัมผัสกับดินหรือถูกแดดถูกฝน
- เหล็กเส้นขนาดใหญ่กว่า 16 มม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 5 ซ.ม.
- เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. หรือเล็กกว่า ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
- คอนกรีตที่ไม่สัมผัสกับดินหรือไม่ถูกแดดถูกฝน
- ในแผ่นพื้น ผนัง และตง
- เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 44 มม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
- เหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 มม. หรือเล็กกว่า ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 2 ซ.ม.
- ในคาน เหล็กเสริมหลักและเหล็กลูกตั้ง ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 3 ซ.ม.
- ในเสา ทั้งแบบเหล็กปลอกเดียวและเหล็กปลอกเกลียว ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 3.5 ซ.ม.
- ในคอนกรีตเปลือกบางและพื้นแผ่นพับ
- สำหรับเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 16 มม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 2 ซ.ม.
- สำหรับเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 มม. หรือเล็กกว่า ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 1.5 ซ.ม.
- ให้เพิ่มความหนาของคอนกรีตหุ้มเหล็กได้ตามความเหมาะสม เมื่ออยู่ในสภาวะรุนแรง หรือบรรยากาศที่อาจก่อให้เกิดการผุกร่อน
- กรณีใช้ร่วมกับมาตรฐานอื่น เช่น การป้องกันอัคคีภัย คอนกรีตหล่อสำเร็จ โครงสร้างเปลิกบาง ฯลฯ ให้ใช้ค่าที่มากกว่าเป็นเกณฑ์บังคับ
ระยะหุ้มคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามกฎกระทรวงควบคุมอาคาร ฉบับที่ 60 พ.ศ. 2549
- เสาสี่เหลี่ยมที่มีด้านแคบขนาด 30 ซ.ม. ขึ้นไป แต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
- เสากลมหรือเสาตั้งแต่ห้าเหลี่ยมขึ้นไป ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 ซ.ม. ขึ้นไป ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
- คานและโครงสร้างข้อหมุนคอนกรีต ขนาดกว้างตั้งแต่ 30 ซ.ม. ขึ้นไป ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 4 ซ.ม.
- พื้นหนาไม่น้อยกว่า 11.5 ซ.ม. ต้องมีระยะหุ้มคอนกรีตน้อยสุด 2 ซ.ม.