การตอกเสาเข็มในพื้นที่ที่ติดกับอาคารข้างเคียง อาจเกิดการสั่นสะเทือนสูง ส่งผลกระทบต่ออาคารข้างเคียง ทำให้เกิดรอยร้าวได้ เสาเข็มหล่อในที่ หรือเสาเข็มเจาะจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหานี้ โดยการทำเสาเข็มเจาะนี้ ทีมงานของเรามีความชำนาญและมีประสบการณ์สูง เรามีการควบคุมงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้วัสดุเหล็ก และคอนกรีตต้องเป็นไปตามข้อกำหนดงานเสาเข็มเจาะระบบแห้งเท่านั้น
ในการทำเสาเข็มเจาะแบบแห้งนั้น จะมีข้อจำกัด คือไม่อาจวางปลายเสาเข็มในชั้นทรายที่มีน้ำ และไม่สามารถเจาะผ่านชั้นทรายที่มีน้ำที่มีความหนามากกว่า 4 เมตรได้ หรือในชั้นดินเหนียวปนทรายหรือตะกอนทรายปนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจะมีแรงดันของน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำไหลเข้าสู่หลุมเจาะผ่านชั้นดินได้ตลอดเวลา ส่งผลให้เสาเข็มเจาะสูญเสียสภาพ และส่งผลให้เสาเข็มสูญเสียความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกที่ดีได้ ในการทำเสาเข็มเจาะแบบแห้ง ประกอบด้วยอุปกรณ์ค่อนข้างเล็กไม่ยุ่งยาก เคลื่อนย้ายสะดวก ไม่ต้องการบริเวณทำงานมากนัก อุปกรณ์หลักประกอบด้วย ขาหยั่ง 3 ขา ( TRIPOD ) ปลอกเหล็กชั่วคราว (Temporary Casing) กระเช้าตักดิน (Bucket) ลูกตุ้ม (Cylindrical Hammer) และเครื่องกว้านลม (Air Winch)
ขั้นตอนการทำเสาเข็มเจาะดังนี้
1. การจัดเครื่องมือเข้าศูนย์กลางเสาเข็มเจาะ ปรับตั้ง 3 ขา ให้ได้ตรงแนวศูนย์กลางของเสาเข็ม เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว จึงตอกหลักยึดปรับแท่นเครื่องมือให้แน่น แล้วใช้กระเช้าเจาะนำเป็นรูลึก (PRE – BORE) ประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
ข้อควรปฏิบัติ และข้อควรระมัดระวัง
โดยปกติจะเทคอนกรีตจนเต็มหรือเกือบเต็มหลุมเจาะ ก่อนทำการถอนปลอกเหล็ก ซึ่งจะทำให้คอนกรีตมีความต่อเนื่องและขณะถอนปลอกเหล็กจะมองเห็นสภาพการยุบตัวของคอนกรีตได้ชัดเจน ทำให้มั่นใจได้ว่าเสาเข็มมีความสมบูรณ์ตลอดความยาว การเทคอนกรีตจนเต็มหรือเกือบเต็มหลุมเจาะนี้แม้จะเป็นข้อดี แต่จะกระทำได้สำหรับเสาเข็มเจาะที่เจาะดินไม่ผ่านชั้นทรายชั้นแรกเท่านั้น เพราะหากต้องเจาะผ่านชั้นทรายชั้นแรก จำเป็นต้องลงปลอกเหล็กยาวลงไปกันชั้นทราย การเทคอนกรีตขึ้นมามากเกินไป จะทำให้ไม่สามารถถอนปลอกเหล็กขึ้นได้ เพราะกำลังเครื่องจักรไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องทำการเทคอนกรีต และถอนปลอกเหล็กกันดินเป็นช่วงๆ กรณีเช่นนี้ควรคอยตรวจเช็คระดับคอนกรีตภายในปลอกเหล็กตลอดเวลาที่ดำเนินการถอน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการไหลดันของดินและน้ำเข้ามา จนทำให้เสาเข็มคอดหรือขาดจากกัน รูเจาะเมื่อได้รับการตรวจสอบและอนุมัติให้เทคอนกรีตได้ ควรจะรีบทำการเทคอนกรีตทันทีเพื่อไม่ให้รูเจาะอ่อนตัวหรือกระทบความชื้นในอากาศนานเกินไป จนสูญเสียแรงเฉือน (SKIN FRICTION) ได้